CF-NET Index กับการรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชน
CF-NET Index เป็นเครื่องมือนำเสนอสถานภาพของการจัดการป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถติดตามสถานะการจัดการ ทรัพยากรป่าได้ด้วยตนเอง พร้อมปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการป่าให้สอดคล้องกับเป้าหมายของชุมชน และยังช่วยให้องค์กรหรือบุคคลภายนอกที่สนใจสนับสนุนงานของป่าชุมชนสามารถติดตามผลการจัดการป่าของชุมชน
CF-NET Index ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การจัดการป่าชุมชนสอดคล้องกับมาตรฐาน ESG หรือตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance) ซึ่งเป็นเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถสนับสนุนป่าชุมชนโดยมีข้อมูลที่สะท้อนผลลัพธ์ของการจัดการป่า และช่วยเชื่อมโยง ธุรกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่
ประโยชน์ของการรายงานสถานภาพป่าชุมชนด้วย CF-NET Index
สำหรับชุมชน
- เสริมสร้างศักยภาพการจัดการป่าและการมีส่วนร่วมของชุมชน: กระบวนการจัดทำข้อมูลนี้มุ่งเน้นให้ชุมชน เป็นผู้สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลป่าชุมชนของตนเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพในการจัดการป่าชุมชนให้แก่คณะกรรมการป่าชุมชน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
- ติดตามและพัฒนาคุณภาพการจัดการป่า: ช่วยให้ชุมชนสามารถประเมินและปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรป่าของตนเองตามหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน
- รองรับการปรับปรุงแผนการจัดการป่า: สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการปรับปรุงแผนทุก 5 ปี ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้แผนการจัดการป่ามีความเหมาะสมกับบริบทชุมชน
สำหรับภาคธุรกิจ
- เชื่อมภาคธุรกิจกับป่าชุมชนและการเสริมสร้างความยั่งยืน: องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะสามารถใช้รายงาน CF-NET Index เป็นข้อมูลประกอบรายงานความยั่งยืน (Sustainability reporting) โดยข้อมูลเป็นการรายงานที่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์และมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารงานของป่าชุมชนแต่ละแห่ง
ข้อมูลสถานภาพการจัดการป่าชุมชนใน CF-NET Index
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens' Forest Network: CF-NET) รีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand) และองค์กรภาคี ได้ร่วมกันพัฒนา CF-NET Index เพื่อเป็นเครื่องมือรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชน โดยการสนับสนุนจากกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (THAI CG Fund) และ Darwin Initiative โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร
การรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชนตามกรอบ CF-NET Index ประกอบด้วย 9 เกณฑ์ 24 ตัวชี้วัด ดังนี้
มิติ | เกณฑ์ | ตัวชี้วัด |
---|---|---|
![]() สิ่งแวดล้อม (Environmental) |
1. สุขภาพป่า |
1.1 โครงสร้างป่า 1.2 ข้อมูลไม้ใหญ่ 1.3 การทดแทนตามธรรมชาติของป่า 1.4 ความหลากหลายของพันธุ์พืชอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต้นไม้ 1.5 ไผ่ (กรณีที่มีป่าไผ่) |
2. ความหลากหลายทางชีวภาพ |
2.1 ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช 2.2 ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพด้านสัตว์ป่า 2.3 กลุ่มของสัตว์ป่าที่มีบทบาทในระบบนิเวศ 2.4 ชนิดพันธุ์สัตว์สำคัญ |
|
3. ความสามารถในการจัดการภัยคุกคามต่อทรัพยากรป่าไม้ |
3.1 ระดับความรุนแรงจากภัยคุกคามที่เกิดจากมนุษย์ 3.2 ระดับความรุนแรงจากภัยธรรมชาติ 3.3 ระดับความรุนแรงจากพืชหรือสัตว์ต่างถิ่นรุกราน |
|
![]() สังคมเศรษฐกิจ (Social) |
4. การพึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ |
4.1 การมีแหล่งน้ำในป่าชุมชน 4.2 ปริมาณของป่า |
5. การแบ่งปันประโยชน์ |
5.1 แผนการจัดสรรทรัพยากรป่าชุมชน 5.2 กลไกการแบ่งปันประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชน |
|
6. ธุรกิจจากป่าชุมชน |
6.1 การสร้างรายได้จากทรัพยากรป่าชุมชน 6.2 การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน |
|
![]() ธรรมาภิบาล (Governance) |
7. การจัดทำแผนและการติดตามประเมินผลการจัดการป่าชุมชน |
7.1 ความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน 7.2 การติดตามและประเมินผลการจัดการป่าชุมชน |
8. การมีส่วนร่วม |
8.1 การมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลายในคณะกรรมการป่าชุมชน 8.2 จำนวนกิจกรรมในแผนจัดการป่าชุมชนที่มีผู้หญิง เยาวชน และกลุ่มเปราะบางเป็นเป้าหมายหลัก |
|
9. การบริหารของคณะกรรมการป่าชุมชน |
9.1 ความสม่ำเสมอในการประชุมและการรายงาน 9.2 การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการป่าชุมชน |
รูปแบบการรายงานผล CF-NET Index
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองได้เก็บข้อมูลและรายงานสถานภาพการจัดการป่าชุมชนผ่านเว็บไซต์ฐานข้อมูลเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใช้ CF-NET Index ในการประเมินและรายงานข้อมูลของป่าชุมชนจำนวน 7 แห่ง
ตัวอย่างผลการประเมิน CF-NET Index
ป่าชุมชนบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน
(ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2568)

สิ่งแวดล้อม (Environment)

E = 2.36
สังคมเศรษฐกิจ (Social)

S = 2.67
ธรรมาภิบาล (Governance)

G = 1.83
วิธีการอ่านระดับคะแนน CF-NET Index
คะแนน | ระดับสถานภาพการจัดการป่าชุมชน |
---|---|
2.44 - 3.00 | สูงมาก |
1.83 - 2.43 | สูง |
1.22 - 1.82 | ปานกลาง |
0.61 - 1.21 | ต่ำ |
0.00 - 0.60 | ต่ำมาก |
จากผลการประเมินสถานภาพการจัดการป่าชุมชนโดยใช้ตัวชี้วัด CF-NET Index พบว่า สถานภาพการจัดการป่าชุมชนบ้านห้วยหาด ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน อยู่ในระดับสูง โดยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (E) อยู่ในระดับสูง ขณะที่มิติด้านสังคมเศรษฐกิจ (S) อยู่ในระดับสูงมาก และมิติด้านธรรมาภิบาล (G) อยู่ในระดับสูง
ดังนั้น การพัฒนาการจัดการป่าชุมชนในระยะต่อไป ควรมุ่งส่งเสริมพัฒนาด้านธรรมาภิบาลเป็นลำดับแรก และยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมเศรษฐกิจ เพื่อให้การบริหารจัดการป่าชุมชนมีความสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น
รอรับชมรายงานฉบับเต็มเร็วๆ นี้
รายชื่อป่าชุมชนที่มีการจัดเก็บข้อมูล CF-NET Index
สามารถดูข้อมูลป่าชุมชนแต่ละแห่งที่มีการจัดทำรายงานสถานภาพการจัดการป่าผ่าน CF-NET Index ได้ที่นี่

ป่าชุมชนบ้านม้าร้อง
อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม
อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

ป่าชุมชนบ้านดอนกอย
อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
กิจกรรมเด่น: ปลูกป่า สำรวจคาร์บอน สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ
ร่วมสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน
แม้หลายชุมชนจะมุ่งมั่นดูแลและบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อจำกัดด้านงบประมาณยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินกิจกรรมการจัดการและอนุรักษ์ป่า รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อรายงานสถานภาพการจัดการป่าผ่าน CF-NET Index ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและพัฒนาการจัดการป่าชุมชนให้เป็นระบบมากขึ้น
การสนับสนุนป่าชุมชนไม่ได้เป็นเพียงการให้เงินทุน แต่ยังรวมถึงการร่วมติดตามและส่งเสริมการจัดการป่าชุมชนอย่างมีเป้าหมายผ่าน CF-NET Index ซึ่งช่วยให้ผู้สนับสนุนป่าชุมชนสามารถการเข้าถึงข้อมูลที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการป่า และมั่นใจได้ว่างบประมาณที่มอบให้จะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
หากสนใจสนับสนุนป่าชุมชน สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thailand@recoftc.org