ทำความรู้จักป่าชุมชน

ป่าชุมชนคืออะไร

รีคอฟได้ให้ความหมายของป่าชุมชนไว้ว่า ป่าชุมชนคือคำที่มีความหมายกว้าง เพื่อใช้อธิบายรูปแบบการจัดการป่าไม้ที่ให้ชุมชนเป็นผู้ที่มีสิทธิในการตัดสินใจเป็นหลัก ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม การจัดการป่าแบบร่วมกัน ป่าไม้สังคม หรือการจัดการป่าโดยชุมชนเป็นฐาน มีเป้าหมายคือการลดความยากจน ป่าชุมชนนั้นคือการมีส่วนร่วมและควรจะสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่สมาชิกของชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้เมื่อเรากล่าวถึงชุมชนท้องถิ่นนั้น หมายรวมถึงคนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคล และชุมชนที่มีความสัมพันธ์ในเชิงของพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ร่วมกันกับป่าในพื้นที่ท้องถิ่นนั้น เกษตรกรรายย่อย หรือป่าของครอบครัว การจัดการป่าโดยชุมชนหรือหมู่บ้าน และการร่วมจัดการป่าในพื้นที่อนุรักษ์นั้นนับได้ว่าเป็นรูปแบบการจัดการป่าชุมชนได้ทั้งหมด

เป้าหมายของการจัดการป่าชุมชนคือ เพื่อการรักษาป่าให้สมบูรณ์ควบคู่ไปกับการตอบสนองความต้องการในการดำรงชีพของคนในท้องถิ่น เป้าหมายของป่าชุมชนนั้นมีได้หลายประการ เช่น การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ระดับครัวเรือน หรือการผลิตในระดับพาณิชย์ โดยป่าชุมชนอาจจะมีการรวมวัตถุประสงค์เหล่านีั้เข้าด้วยกันเพราะความต้องการของชุมชนนั้นมักจะมีความหลากหลาย ความต้องการเหล่านี้มีทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น เพื่อการผลิตน้ำที่สะอาด) ไปสู่ด้านการสร้างเศรษฐกิจ หรือการยังชีพ (เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์จากป่าอย่างไม้หรืออาหาร) รวมถึงในด้านจิตวิญญาณ และวัฒนธรรม (รีคอฟ)

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ราว 102,353,484 ไร่ หรือ 31.64% ของพื้นที่ประเทศ พื้นที่ป่าไม้เหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ มีเพียงบางส่วนที่มีการดูแลป่าร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน หรืออยู่ในความครอบครองของเอกชน ซึ่งการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่ป่าไม้นี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจับตามอง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันให้ได้มากที่สุด

พื้นที่ป่าไม้ในปัจจุบัน

ในพ.ศ. 2563 พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีจำนวน 102,353,484.76 ไร่ หรือร้อยละ 31.64 ของพื้นที่ประเทศ (ข้อมูลจากโครงการจัดทำสถานภาพป่าไม้ พ.ศ. 2563, กรมป่าไม้)

ป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562

“ป่าชุมชน” ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 หมายความว่า ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้

ปัจจุบันมีป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวนรวม 11,327 โครงการ 13,028 หมู่บ้าน มีเนื้อที่รวม 6,295,718 ไร่ (กรมป่าไม้, 2564) คิดเป็น 6.14% ของป่าที่หลงเหลือในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งป่าชุมชน
  • เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าในเขตป่าชุมชนโดยการปลูกทดแทน
  • เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการป่าชุมชน
  • เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลายของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา
  • เพื่อควบคุมดูแล ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน
การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน

พระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับนี้ ได้กำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ทรัพยากรของป่าชุมชน โดยแบ่งเป็น 5 รูปแบบ คือ

  1. ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชน/พักผ่อนหย่อนใจ
  2. เก็บหาของป่า
  3. ใช้ประโยชน์จากไม้ เพื่อการยังชีพและสาธารณะประโยชน์
  4. ใช้บริการทางนิเวศ เช่น น้ำ
  5. ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งนี้ ขั้นตอนสำคัญในการขอจัดตั้งป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 คือ ต้องมีการจัดทำ “แผนการจัดการป่าชุมชน” เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องยื่นพร้อมกับเอกสารคำขอจัดตั้งอื่นๆ ต่อสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้จังหวัด เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารและพื้นที่เป้าหมาย ปิดประกาศ และเปิดให้คัดค้าน กรณีมีการคัดค้าน จะมีการพิจารณาคำคัดค้านแล้วส่งต่อให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาเห็นชอบ และส่งให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณา หากเห็นชอบก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ป่าที่ชุมชนจัดการในพื้นที่อนุรักษ์

นอกจากป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากรัฐตามกฎหมายแล้ว ยังมีป่าอีกเป็นจำนวนมากในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษามาช้านานแล้วและจัดการตามหลักของป่าชุมชนเช่นกัน โดยป่าชุมชนเหล่านี้มักจะมีข้อกำหนดในการดูแลรักษาป่าตามความเชื่อและประเพณีของแต่ละชุมชนและท้องถิ่น หลายแห่งเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ป่าและการใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน แต่ป่าชุมชนหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหล่านี้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนของรัฐ จึงยังคงไม่ได้รับการยอมรับตามกฏหมาย

ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ราว 73 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่บางส่วนที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืชพบว่ามีชุมชนอยู่อาศัย เป็นที่ทำกิน และสามารถจัดการป่าร่วมกับภาครัฐได้ตามเงื่อนไขและกระบวนการทางกฎหมาย


พื้นที่ชุมชนใช้ประโยชน์

การยอมรับบทบาทของชุมชนในการร่วมจัดการป่าในพื้นที่อนุรักษ์นั้นได้มีการระบุไว้ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ แก้ไข พ.ศ.2562 มาตรา 65 ซึ่งระบุไว้ว่า

    ชุมชนสามารถใช้สิทธิร่วมกันในการขอใช้ป่าและทรัพยากรจากป่าได้ หากมีการกำหนดและขอให้มีการจัดตั้ง "เขตเก็บหาทรัพยากรที่ทดแทนได้" โดยให้มีการสำรวจทรัพยากรที่ทดแทนได้ตามฤดูกาลที่มีศักยภาพ เหมาะสม และเพียงพอในการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศ เพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมที่อยู่โดยรอบบริเวณอุทยาน โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาตินั้น    

แม้การยอมรับสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าในพื้นที่อนุรักษ์นี้จะไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็นป่าชุมชน แต่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญทีของการใช้สิทธิของชุมชนในการจัดการป่าในพื้นที่อนุรักษ์

ชุมชนจัดการป่าอย่างไร

การจัดการป่าชุมชน เป็นการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชนเป็นฐาน มีเป้าหมายเพื่อการรักษาพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศ รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับปัจจัยในการดำรงชีวิต ครอบคลุมไปถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น การจัดการป่าชุมชนจึงต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากร ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ชุมชนได้ร่วมกันคิดและสร้างกิจกรรมขึ้นมาตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการจัดการป่าชุมชน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านกายภาพของป่า ความหลากหลายของทรัพยากร ภูมินิเวศทางสังคมและวัฒนธรรมที่ชุมชนปฏิบัติมาอย่างช้านาน

นอกจากนี้ ข้อกำหนดและมาตรการทางกฎหมายด้านป่าไม้ก็เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญประกอบการกำหนดแนวทางในการจัดการป่าชุมชน กิจกรรมการจัดการป่าของชุมชนส่วนใหญ่ที่ได้ปฏิบัติกันมานั้นจะมุ่งเน้นเป้าหมายในการฟื้นฟูและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่ปัจจุบันกฎหมายด้านป่าไม้ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนมากขึ้น ทำให้ชุมชนสามารถเสนอแผนการจัดการป่าชุมชนของตนเองได้ กิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการในการจัดการป่าชุมชนมีตัวอย่างดังนี้

  1. สำรวจทรัพยากรป่าชุมชนในพื้นที่โซนต่างๆ เพื่อประเมินศักยภาพป่าและกำหนดแนวทางการจัดการป่าชุมชน
  2. วิเคราะห์แนวโน้มการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชุมชนสู่การพัฒนาฐานเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน
  3. สร้างข้อตกลงและวางแผนการจัดการป่าระหว่างชุมชนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ
  4. ดำเนินกิจกรรมตามแผนการจัดการป่าชุมชนที่ได้จัดทำขึ้นอย่างมีส่วนร่วม
  5. ติดตามและประเมินผลการจัดการป่าชุมชนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว หรือตามที่ได้กำหนดในแผนการจัดการป่าชุมชน